การจัดการกับอากาศที่ใช้ (Gas Planning)
นักดำน้ำแบบ Tec โดยทั่วไป จะต้องเลือกส่วนผสมของอากาศที่จะใช้ในการดำน้ำ ความรู้เบื้องต้นของคนที่ดำน้ำแบบนี้ เรื่องแรกจึงเป็นเรื่องของการดำน้ำโดยใช้อากาศที่มีส่วนผสมของออกซิเจนที่แตกต่างกับอากาศธรรมดา (Enriched Air Nitrox) นักดำน้ำจะเลือกส่วนผสมของอากาศที่เหมาะสมกับความลึก เวลา และลักษณะของการทำ Decompression ในการดำน้ำแต่ละครั้ง
โดยทั่วไปแล้ว อากาศธรรมดาจะไม่ใช่ก๊าซที่เหมาะสมที่สุดในการดำน้ำแบบ Tec โดยเฉพาะอย่างยิ่ง การทำ Deco ด้วยอากาศธรรมดานั้นจะลำบากกว่าใช้ Nitrox เช่น อาจจะเสี่ยงต่อการเป็นเบนด์มากกว่า หรือว่าต้องใช้อากาศมากจนไม่สามารถนำอากาศในปริมาณที่พอเพียงลงไปได้ เป็นต้น นักดำน้ำแบบ Tec จึงมักต้องใช้อากาศที่มีส่วนผสมแตกต่างกันไป เพื่อให้มีเวลาในการดำน้ำให้นานเพื่อลดเวลาในการทำ Deco หรือเร่งรัดกระบวนการทำ Deco นั่นเองครับ
อันดับแรกเลย นักดำน้ำแบบ Tec จะต้องมีความรู้เรื่องความลึกที่นำมาใช้คำนวณ (Equivalent Air Depth: EAD) และความลึกสูงสุดของก๊าซที่ใช้หายใจ (Maximum Depth: MOD) ซึ่งความรู้เหล่านี้จะเรียนมาก่อนในหลักสูตร Enriched Air Nitrox Diver Course แล้ว จากนั้น จึงหัดหาอัตราการบริโภคอากาศที่ผิวน้ำ (Surface Air Consumption: SAC) ของตัวเอง ซึ่ง SAC ของแต่ละคนก็จะไม่เท่ากัน
จะเห็นได้ว่า ตั้งแต่เริ่มต้นก็ต้องเริ่มคำนวณหาอะไรกันเยอะแยะไปหมดแล้ว นักดำน้ำแบบ Tec จะต้องรู้หลายเรื่องมากเลยก่อนที่จะเริ่มดำน้ำ เช่น ต้องรู้ว่าตนมีอากาศลงไปในปริมาณเท่าไร เพียงพอต่อการใช้ดำน้ำในแต่ละครั้งและมีสำรองในกรณีฉุกเฉินหรือเปล่า อากาศในแต่ละถังสามารถใช้ได้ในความลึกเท่าไร ฯลฯ
นอกจากนั้น ยังต้องวางแผนไว้เผื่อการเมาไนโตรเจน การวางแผนเพื่อป้องกันออกซิเจนเป็นพิษ หลายเรื่องที่ต้องนำมาใช้ในที่นีจะได้เรียนมาก่อนแล้วในหลักสูตร Enriched Air Diver Specialty และหลักสูตร Deep Diver Specialty ซึ่งผู้ที่จะก้าวเข้ามาเรียน Tec จำเป็นต้องผ่านหลักสูตรเหล่านี้เสียก่อน
การจะดำน้ำแบบนี้ ความคิดและเจตคติของนักดำน้ำ จึงต้องมีความแตกต่างกับนักดำน้ำแบบ Rec โดยทั่วไปพอสมควร การที่จะดำน้ำแบบวางแผนตามคอมพิวเตอร์ ดำจนอากาศเกือบหมด หรือดำตามสบาย แล้วค่อยจัดการกับสิ่งที่เกิดขึ้นภายหน้า กลายเป็นเรื่องอันตรายร้ายแรงสำหรับการดำน้ำแบบ Tec นักดำน้ำแบบ Tec จำเป็นต้องวางแผนล่วงหน้าและดำน้ำตามแผนอย่างเคร่งครัด เช่น ต้องวางแผนเรื่องปริมาณก๊าซที่จะใช้หายใจอย่างที่กล่าวมาแล้ว ต้องวางแผนเรื่องความลึกและเวลา เรื่องระดับการทำ Deep Stop และ Deco Stop จนกระทั่ง ต้องมีการวางแผน และเขียน Run Time ว่า ณ เวลานี้ จะต้องมาอยู่ ณ จุดไหนของความลึกที่ดำน้ำ
จากเรื่องที่กล่าวมา การดำน้ำแบบ Tec นี้ จึงเป็นเรื่องที่ต้องใช้คุณสมบัติหลายอย่างมากของนักดำน้ำ เช่น ต้องใช้ความแข็งแกร่งและความฟิตของร่างกาย ต้องใช้ทักษะการดำน้ำในระดับสูง ต้องใช้ทักษะการคำนวณและการวางแผนอย่างละเอียด และสุดท้ายต้องมีเจตคติและวินัยในการดำน้ำที่เข้มข้น
คุณสมบัติทั้งหลาย เมื่อนำมารวมกัน ก็เป็นเรื่องน่าเบื่อหน่ายหรือน่าท้อแท้ใจสำหรับคนส่วนมาก แต่ก็มีคนอีกจำนวนมากเช่นกันที่เห็นเป็นเรื่องท้าทาย และสำหรับคนที่ก้าวเข้ามาสู่โลกของการดำน้ำแบบ Tec แล้ว โดยส่วนมาก สิ่งที่ได้รับตอบแทนมักเป็นสิ่งล้ำค่าที่คนทั่วไปไม่สามารถสัมผัสได้โดยง่ายครับ
Surface Air Consumption: SAC หามาทำอะไรกัน
ก่อนอื่น เราก็ต้องมาเรียนรู้กันก่อนครับว่า SAC นี้หามาได้อย่างไร วิธีการง่ายๆ ก็คือ ให้ดำลงไปที่ความลึกใดก็ได้ที่ชอบ เช่น ห้าเมตร สิบเมตร ยี่สิบเมตร ฯลฯ แล้วก็ทำการว่ายน้ำสบายๆ ไม่ต้องเร่งและไม่ช้าเกินไป ที่ความลึกนั้น ตามเวลาที่วางแผนไว้ เช่น ห้านาที หรือสิบนาที ก่อนที่จะทำการทดสอบนี้ ต้องดูไว้ก่อนว่าอากาศของเรามีอยู่เท่าไร และเมื่อทำการทดสอบเสร็จ ก็กลับมาดูว่าเราใช้อากาศไปเท่าไรนั่นเอง หลังจากทำการทดสอบแล้ว เราก็เอาข้อมูลทั้งหมดที่มีมาทำการคำนวณ ซึ่งข้อมูลทั้งหมดจะมีความจุของถังอากาศที่ใช้ (เป็นลิตร) ความลึก (เป็นเมตร) เวลา (เป็นนาที) และปริมาณอากาศที่ใช้ไป (เป็นบาร์) โดยเราจะถือว่า SAC ที่หามาครั้งนี้เป็น SAC สำหรับการดำน้ำตามปกติ หลังจากนี้เราอาจหา SAC เวลาทำ Deco คืออยู่นิ่งๆ หรือหา SAC เวลาดำน้ำต้านกระแสน้ำหรือดำน้ำด้วยความรวดเร็วก็ได้ครับ
เอาข้อมูลทั้งหมดมาเข้าสูตรต่อไปนี้
SAC = ปริมาณอากาศที่ใช้ไป (เป็น bar) คูณด้วยความจุของถังอากาศที่ใช้ (เป็นลิตร) แล้วเอาไปหารด้วยความกดดัน (เป็น ata) จากนั้นจึงเอาผลไปหารด้วยเวลา
เมื่อเราหา SAC มาได้แล้ว เราก็สามารถวางแผนจัดการกับปริมาณอากาศที่เราจะใช้ดำน้ำได้ อย่างปลอดภัยครับ โดยการเอา SAC ไปคูณกับความกดดัน (ata) ณ ความลึกนั้น คูณกับเวลา ณ ความลึกนั้น เราก็จะได้ปริมาณอากาศที่จะต้องใช้ เอาปริมาณอากาศที่เราต้องใช้ไปบวกกับปริมาณอากาศสำรองที่เราวางแผนไว้ เราก็จะรู้ทันทีว่า อากาศที่เราเตรียมไปนั้นจะเพียงพอสำหรับการดำน้ำไดฟ์นั้นหรือไม่
ลองดูตัวอย่างกันนะครับ หากผมอยากจะดำน้ำดูเรือจมที่ความลึก 50 เมตร โดยใช้ถัง 12 ลิตรสองถังที่อัดอากาศไว้ 200 บาร์ และผมมี SAC อยู่ที่ 18 ลิตรต่อนาที เวลาวางแผนดำน้ำ ผมก็ต้องดูก่อนว่า ผมมีอากาศในถังอยู่เท่าไร ซึ่งก็เท่ากับ 200 x 24 = 4800 ลิตร
จากนั้นก็ดูว่า หากผมจะดำที่ 50 เมตรสัก 30 นาที อากาศจะพอไหม ด้วยการคำนวณ 6 ata x 30 minutes x 18 litre per minute = 3240 ลิตร
นั่นหมายความว่า ไดฟ์นั้น ผมจะมีอากาศสำรองเหลือ 4800 – 3240 = 1560 ลิตร เพื่อใช้ในกรณีฉุกเฉินหรือกรณีต้องใช้กำลังมากกว่าปกติโดยไม่คาดคิด ฯลฯ ซึ่งก็ดูเหมือนว่าจะใกล้เคียง กับการเหลืออากาศไว้หนึ่งในสาม ซึ่งเป็นปริมาณอากาศสำรองที่ยอมรับใช้กันทั่วไปในวงการ Tec
ในกรณีนี้ เราต้องมีถังต่างหากสำหรับทำ Deco และสำหรับการขึ้นจากความลึกด้วยนะครับ หรือถ้าหากเราจะใช้แท้งค์คู่ที่เรามีอยู่นั้น ในการขึ้นและทำ Deco เราก็ต้องลดเวลาที่ความลึกลงไป เพื่อให้มีอากาศเหลือสำหรับขึ้น และทำ Deco ด้วยการหาปริมาณอากาศที่เราจะใช้ในการขึ้น และทำ Deco มาหักลบกลบหนี้กันก่อนด้วยครับ
ส่วนปริมาณอากาศสำรองหนึ่งในสามนั้น ก็ต้องมีอยู่ครบถ้วนเวลาขึ้นสู่ผิวน้ำแล้วนะครับ อย่าเอาไปใช้ในการขึ้นหรือทำ Deco เชียวนะครับ เพราะอันตรายร้ายแรงอย่างหนึ่งในการดำน้ำแบบ Tec ก็คือ การเอาสิ่งที่เก็บไว้ใช้สำรองหรือเวลาฉุกเฉินมาใช้นี่แหละครับ พอฉุกเฉินเกิดขึ้นจริงๆ คราวนี้ก็จะไม่มีอะไรเหลือไว้ต่อชีวิตครับ
จากประสบการณ์ที่ผ่านมา SAC ที่หา ณ ความลึกสิบเมตร กับตอนไปหาที่ความลึกห้าสิบเมตร ก็ไม่ตรงกันสักเท่าไรนัก คงเพราะปัจจัยเรื่องความกดดัน ความกังวล การเมาไนโตรเจน ที่เข้ามาเกี่ยวข้องด้วย เวลาหา SAC ก็เลยน่าจะลองหาที่ความลึกต่างๆ หลายๆ ที่ด้วยจะดีกว่าครับ
น่าสนุกไหมครับ นี่ยังไม่ได้เริ่มลงน้ำเลยนะ
วิธีการนำ SAC มาใช้
อันที่จริง สำหรับนักดำน้ำแบบ Rec นั้น การใช้ SAC แทบจะไม่จำเป็นเลย เนื่องจากเวลาดำน้ำ หากเราดู SPG บ่อยๆ เราก็จะรู้ว่าเมื่อไรจึงจะถึงเวลาที่จะขึ้นแล้ว นั่นคืออากาศใกล้หมดก็สมควรที่จะขึ้นได้เสียทีน่ะครับ เนื่องจากการดำน้ำแบบ Rec นั้น ความจำเป็นในการทำ Deco นั้นไม่มี อากาศเหลือพอประมาณก็ยังสามารถขึ้นได้โดยปลอดภัย
อย่างไรก็ดี ผมเองก็ใช้วิธีการหาอะไรคล้าย SAC นี่มาใช้สำหรับการดำน้ำแบบ Rec อยู่เหมือนกันนะครับ ก่อนที่นักดำน้ำจะลงน้ำ ผมก็จะจดปริมาณอากาศของพวกเขาไว้ ใน Roster เมื่อขึ้นมาก็จดอากาศที่เหลือ เป็นการเช๊คอิน/เช๊คเอาท์ไปในตัวน่ะครับ เมื่อมาดูที่ Roster ก็จะรู้ว่าในกลุ่มแต่ละคนมี SAC เท่าไร แต่ SAC นี่จะเป็นการวัดปริมาณอากาศเป็น bar หรือ psi อย่างเดียวนะครับ คนละอย่างกับที่เล่าให้ฟังเมื่อครั้งที่แล้ว การหา SAC แบบนี้ก็ใช้ได้ครับ หากทุกไดฟ์ใช้ถังอากาศแบบเดียวกัน แต่จะใช้ไม่ได้กับการดำน้ำแบบ Tec เพราะการดำน้ำแบบนี้เราใช้ถังอากาศหลายอย่างครับ บางทีก็เป็นถังคู่ บางทีก็ถังใหญ่ บางทีก็ถังเล็กน่ะครับ
เอาละ คราวนี้มาดูกัน ว่านักดำน้ำแบบ Tec นำเอา SAC มาใช้งานกันอย่างไรนะครับ สมมติว่าผมจะวางแผนการดำน้ำ ดังต่อไปนี้
- 30 เมตร เป็นเวลา 50 นาที ก็จะต้องใช้อากาศทั้งหมด 4000 ลิตร
- ขึ้นมาทำ Deepstop ที่ 24 เมตร 2 นาที ใช้อากาศอีก 136 ลิตร
- ทำ Deco ที่ 19 เมตร 1 นาที ใช้อากาศ 58 ลิตร
- ทำ Deco ที่ 9 เมตร 4 นาที ใช้อากาศ 152 ลิตร
- ทำ Deco ที่ 6 เมตร 16 นาที ใช้อากาศ 512 ลิตร
- ทำ Deco ที่ 3 เมตร 32 นาที ใช้อากาศ 832 ลิตร
รวมแล้วก็ต้องใช้อากาศทั้งหมดในไดฟ์นี้ 5690 ลิตร หากจะต้องมีอากาศสำรองเผื่อเหตุการณ์ฉุกเฉินอีกหนึ่งในสาม ก็ต้องเป็น 8535 ลิตรครับ
ก็จะสามารถคำนวณได้เลยว่า ไดฟ์นี้ต้องเอาอากาศไปทั้งหมด 4 ถัง เพราะถังหนึ่งจะมีอากาศอยู่ 2400 ลิตร
แต่ในความเป็นจริง นักดำน้ำแบบ Tec ก็มักไม่ใช้อากาศชนิดเดียว ในการดำน้ำแต่ละไดฟ์หรอกนะครับ อากาศในการดำน้ำก็อาจจะเป็น Nitrox ที่เหมาะสมกับความลึก และอาจจะใช้ Nitrox ที่เข้มข้นกว่านั้นในการทำ Deco เวลาในการทำ Deco ก็จะน้อยกว่าที่เห็นหลายเท่าเหมือนกัน อาจจะใช้อากาศไม่ถึง 4 ถังก็ได้ครับ