เทคนิคการดำน้ำในกระแสน้ำ

สรุป

เมื่ออยู่ในกระแสน้ำแรง และต้องสู้กระแสน้ำให้อยู่กับที่หรือต้องเคลื่อนไปข้างหน้าด้วย หากใช้วิธีการตีฟินเต็มแรงตลอดเวลา ในที่สุดอาจพบกับความเหนื่อยล้า สูญเสียแรงและประสิทธิภาพในการตีฟินลงไปเรื่อยๆ

เทคนิคหนึ่งที่ทำได้คือ

  • รู้จักอยู่นิ่งบ้าง ลอยตัวในแนวนอน ทำตัวลู่น้ำให้มากที่สุด
  • ลดความกลัวที่จะอยู่นิ่งในกระแสน้ำ ด้วยการเรียนรู้ว่า ตัวเราไม่ได้ไหลไปตามกระแสน้ำเท่ากับความเร็วของกระแสน้ำ แต่ที่จริงแล้วช้ากว่ามาก สังเกตได้จากตะกอนในน้ำที่ไหลผ่านเราไปเร็วกว่าเรามาก (หรืออ่านเพิ่มได้ที่ "กระแสน้ำพาเราไปได้ไกลแค่ไหน") ... เมื่อกลัวน้อยลง เราจะมีสติไว้ปรับท่าทางให้ดี หรือใช้ทำสิ่งต่างๆ ที่จำเป็นในขณะนั้นๆ ได้อีก
  • ตีฟินให้ถูกท่า ได้ผลเต็มที่ โดยประหยัดแรง มีประสิทธิภาพสูง
  • ตีฟินและหยุดพักเป็นระยะๆ เพื่อช่วยให้กล้ามเนื้อไม่อ่อนล้าเกินไป เรียกกำลังกลับมาใช้ได้เรื่อยๆ
  • พัฒนาทักษะที่เกี่ยวข้องให้ดีขึ้นเรื่อยๆ ได้แก่ ตีฟินให้ถูกท่าทาง, ตีฟินให้เหมาะกับประเภทของฟิน, ทำตัวลู่น้ำ, ปรับการลอยตัวให้ดี ซึ่งถ้าการลอยตัวไม่ดีจะมีผลต่อการทำตัวลู่น้ำอย่างมาก, ฝึกอยู่นิ่งๆ

และสุดท้าย หากกระแสน้ำไหลแรงมากจนเกินกำลัง ก็ปล่อยไหลตามน้ำไป (drift dive) หรือยกเลิกไดฟ์หากนักดำน้ำคนอื่นในกลุ่มไม่สามารถดำน้ำไปกับเราได้

คงมีหลายครั้ง ที่เราท่านจำเป็นต้องแหวกว่ายทวนกระแสน้ำที่ค่อนข้างแรง หรืออาจต้องการหยุดดูสัตว์ทะเลสวยงามในกระแสน้ำแรง หาที่หลบก็ไม่ได้

สำหรับนักดำน้ำมือเก่าฟินเก๋า คงจะมีเทคนิคของตัวเองเอาไว้ใช้ในสถานการณ์ที่ว่านี้ แต่สำหรับคนที่ยังไม่มีประสบการณ์นัก วิธีการที่ใช้กันก็คือการตีฟินสุดแรงเกิดแทบจะตลอดเวลา เพียงเพื่อให้สามารถอยู่ ณ ตำแหน่งเดิมได้ ยังไม่ต้องพูดถึงการเคลื่อนที่ทวนกระแสน้ำไปข้างหน้าด้วยซ้ำ ยิ่งตี ก็ยิ่งเหนื่อย ยิ่งเหนื่อย ยิ่งหมดแรงตี โดยไม่มีทีท่าว่าจะไปได้ถึงไหน รอดมาได้ พาลจะหมดแรงดำไดฟ์ต่อไปเสียอีก

ทั้งที่จริงๆ แล้ว วิธีการดำน้ำในกระแสให้ได้ประสิทธิภาพ ไม่เหนื่อยตลอดเวลา และยังทำให้คุณสามารถว่ายทวนกระแสไปได้ อาจง่ายเพียงแค่คุณฝึกหัดที่จะ "อยู่เฉยๆ" เท่านั้นเอง

ใช้ความสงบ สยบความเคลื่อนไหว

โดยปกติ เทคนิคง่ายๆ ในการดำน้ำก็คือ เมื่ออยู่ใต้น้ำให้เคลื่อนไหวช้าๆ นั่นเอง เทคนิคนี้ สามารถนำมาใช้ได้ดีกับการดำน้ำในกระแสด้วยเช่นกัน เพียงแค่คุณหาจังหวะให้ร่างกายได้พักผ่อนด้วยการลอยตัวอยู่นิ่งๆ ในแนวนอน ทำตัวลู่น้ำ (streamlined) สักครู่หนึ่ง ปล่อยให้กระแสน้ำ พาคุณเคลื่อนถอยหลังมาเล็กน้อย เมื่อหายเหนื่อยแล้วค่อยออกแรงตีฟินเคลื่อนที่ไปข้างหน้า จะเอาแค่กลับไปที่เก่าหรือเลยหน้าขึ้นไปอีก ก็ย่อมทำได้

แต่ความรู้สึกของเราที่กลัวว่าเราจะไหลตามกระแสน้ำหายไปจากกลุ่มอย่างรวดเร็วนั่นเอง เป็นตัวการสำคัญที่ทำให้เราหยุดตีฟินไม่ได้ ต้องออกแรงตลอดเวลาจนหน้ามืดเหนื่อยหอบ และยิ่งเหนื่อย ก็ยิ่งตีฟินได้ประสิทธิภาพต่ำลงเรื่อย ขณะที่ใช้แรงมาก วนเวียนอย่างนี้เรื่อยไป

เชื่อหรือไม่ว่า แท้จริงแล้วกระแสน้ำที่นักดำน้ำรู้สึกว่า แรงมาก เร็วมาก นั้น กลับพาตัวเราไปได้อย่างมากเพียงไม่กี่เมตรต่อนาทีเท่านั้น และยิ่งเรารักษาท่าทางให้ลู่น้ำได้มากที่สุดเท่าไร กระแสน้ำก็พาเราไปได้ช้าเท่านั้น ดังนั้น ถ้าคุณมีโอกาส ลองฝึกฝนการลอยตัวนิ่งในกระแสน้ำ แล้วลองสังเกตดูว่า เราไปไหนได้ไม่ไกลหรอกครับ และหากคุณต้องการการพิสูจน์อย่างเป็นวิทยาศาสตร์ ลองอ่านบทความ "กระแสน้ำพาเราไปได้ไกลแค่ไหน" ดูก่อนครับ

ตีฟินให้ถูกท่า และหยุดพักเป็นระยะๆ

แน่นอนครับ การอยู่เฉยๆ ไม่ได้ช่วยให้คุณอยู่ ณ ตำแหน่งเดิมได้หรอก เพียงแค่ช่วยให้เรามีเวลาพักร่างกายได้ชั่วครู่เท่านั้น เมื่อพร้อมแล้วก็เริ่มตีฟินต่อไป เพียงไม่กี่รอบฟินคุณก็จะกลับมาอยู่ในตำแหน่งเดิมได้แล้ว

การพักและตีฟินเป็นระยะๆ เช่น พัก 3 - 4 วินาที ตีฟิน 1 - 2 รอบ จะช่วยให้กล้ามเนื้อไม่อ่อนล้าเกินไป สามารถเรียกกำลังมาใช้ได้เรื่อยๆ ยิ่งกว่านั้น คุณยังตีฟินได้อย่างเต็มประสิทธิภาพอีกด้วย

หากคุณได้เรียน หลักสูตร Advanced Open Water มาแล้ว คุณน่าจะเคยได้ทดลองมาแล้วว่า 1 รอบการตีฟิน (fin-kick) ของคุณ จะพาคุณไปได้ไกลแค่ไหนในน้ำนิ่ง (โดยทั่วไป ถ้าตีได้ประสิทธิภาพเต็มที่ และทิ้งเวลาให้ได้ระยะมากที่สุด ก็น่าจะได้ถึง 1 เมตร) เมื่อมาหักลบกับการถูกน้ำพาไปด้วย ก็ยังเหลืออีกหลายสิบซม. ต่อรอบ

พัฒนาทักษะอยู่ตลอดเวลา

อย่างไรก็ตาม การได้เข้าใจธรรมชาติที่แท้จริงของกระแสน้ำ รวมถึงการได้รู้วิธีการข้างต้นนี้ ก็ไม่อาจทำให้เราทำได้ในทันทีที่เจอกับกระแสน้ำ แต่การฝึกฝนและพัฒนาทักษะอยู่เสมอๆ ต่างหาก ที่จะช่วยให้เราดำน้ำในกระแสน้ำได้อย่างสนุก และปลอดภัย

ทักษะที่จำเป็น เพื่อการดำน้ำในกระแสน้ำ ด้วยวิธีที่กล่าวไปข้างต้น ได้แก่

  • การตีฟินให้ถูกท่าทาง นักดำน้ำควรฝึกตีฟินให้ได้ประสิทธิภาพสูงสุด ในทิศทางที่ต้องการ ซึ่งจะได้ทั้งความเร็วและประหยัดแรง ที่จริงแล้วการตีฟินให้ถูกท่าทางเป็นสิ่งจำเป็นตลอดเวลาที่เราดำน้ำอยู่แล้ว
  • การตีฟินให้ถูกประเภทฟิน อย่างน้อยฟิน 2 แบบใหญ่ๆ อย่าง Paddle และ Split ก็มีวิธีตีฟินแตกต่างกันมาก ไม่ว่าคุณจะใช้ฟินแบบใด ต้องสามารถใช้งานได้อย่างเหมาะสมกับฟินชนิดนั้นๆ ด้วย อย่างไรก็ตาม เมื่อดำน้ำในกระแสน้ำแรง การลากฟินกว้างๆ ตามปกติของฟินแบบ Paddle นั้น ไม่ควรทิ้งจังหวะสุดท้าย (กางขากว้างสุด) ไว้นานเกินไป เพราะเป็นช่วงเวลาที่กระแสน้ำจะทำให้เกิดแรงลากกับฟิน (และตัวเรา) มากที่สุด ส่วนฟินแบบ Split นั้น ปกติต้องตีแบบถี่ๆ แคบๆ อยู่แล้วไม่ว่าจะในน้ำนิ่งหรือมีกระแสก็ตาม
  • ทำตัวลู่น้ำ จัดท่าทางให้อยู่ในท่านอน และรักษาท่านั้นไว้ได้อย่างต่อเนื่องด้วย
  • ปรับการลอยตัวให้ดี เพื่อให้สามารถทำตัวลู่น้ำได้ดี เพราะหากคุณมีการลอยตัวเป็นลบ ก็มักจะต้องใช้ฟินช่วยพยุง ด้วยการตีฟินในท่าเอาขาลง และถ้ามีการลอยตัวเป็นบวก ก็มักจะต้องตีฟินในท่าเอาขาชี้ขึ้น ถ้าเป็นเช่นนี้แล้ว คุณคงไม่สามารถทำตัวให้ลู่น้ำได้ และทำให้อยู่ในกระแสน้ำได้อย่างลำบาก
  • อยู่นิ่งๆ การอยู่นิ่งใต้น้ำคงจะเป็นเรื่องยากที่สุดสำหรับนักดำน้ำใหม่ แต่การขยับไปมา ออกท่าออกทางตลอดเวลา จะทำให้เราเปลืองแรงโดยเปล่าประโยชน์ เหนื่อยง่าย จัดท่าทางให้ลู่น้ำได้ยาก และตรวจสอบการลอยตัวไม่ได้ เพราะมีแรงที่เกิดจากการเคลื่อนไหวของเราตลอดเวลา

ปล่อยไหลตามน้ำ เมื่อเกินกำลัง

ในสถานการณ์ที่กระแสน้ำแรงมาก และเราได้พยายามอย่างเต็มกำลังแล้ว ยังไม่สามารถเคลื่อนที่ไปยังตำแหน่งที่ต้องการได้ ก็ต้องยอมรับว่ากำลังเราไม่เพียงพอและอาจต้องปรับแผนการดำน้ำเป็นการปล่อยไหลตามน้ำ (drift diving) แทนหรือยกเลิกไดฟ์นั้น หากนักดำน้ำคนอื่นในกลุ่มไม่สามารถ drift dive ไปกับเราได้ ยอมรับว่าธรรมชาติอาจไม่ได้เปิดโอกาสให้เราดำน้ำได้ตลอดเวลา ... พึงระลึกว่า ถ้ายังมีชีวิตไว้ ก็ยังมีไดฟ์หน้าให้เราดำน้ำได้เสมอ

เขียนโดย ศุภพงษ์ อารีประเสริฐกุล
นำเสนอ 01 ส.ค. 2550
ปรับปรุงล่าสุด 02 ก.ค. 2561