ความผิดพลาดของมืออาชีพ

อ่านเรื่องนี้มาจากนิตยสารดำน้ำฉบับหนึ่งนะครับ (Rodale's Scuba Diving: Out of Practice, Out of Luck: March 2002) ดูแล้วมีประโยชน์หลายเรื่อง ก็เลยเอามาฝากเพื่อนๆ ครับ

กีฬาดำน้ำ เป็นกิจกรรมที่เต็มไปด้วยกฏระเบียบเช่นเดียวกับกิจกรรมอื่นๆ อีกมากมาย โดยมีสิ่งที่สำคัญเกิดมาจากวิจารณญาณของผู้ดำน้ำเอง แต่มีบ่อยครั้งมากเหลือเกินที่นักดำน้ำที่มีประสบการณ์มาก ปล่อยให้ความรู้และอัตตาของตัวเองเข้ามาบดบังวิจารณญาณการตัดสินใจที่ดีของตัวเองไปเสีย ดูอย่างในกรณีของจิลล์นี่นะครับ

จิลล์เป็นผู้สอนดำน้ำที่ไม่ได้ดำน้ำมานานเนื่องจากตั้งครรภ์ สองปีที่เธอห่างจากการดำน้ำไป เธอตัดสินใจที่จะกลับมาดำน้ำอีก โดยนัดกันไปดำน้ำกับลูกศิษย์ที่เคยเรียนดำน้ำกับเธอมาก่อน เธอค่อนข้างจะรู้ตัวว่าสภาพร่างกายไม่เหมือนเดิม ความแข็งแรงและสมรรถภาพทางกายของเธอมีน้อยกว่าเดิมมาก และในฐานะมืออาชีพทางการดำน้ำ เธอก็น่าจะรู้ตัวดีว่าทักษะการดำน้ำของเธอก็อาจจะขึ้นสนิมด้วยเช่นกัน

เมื่อไปดำน้ำกันในสถานที่ที่ใกล้ๆ เป็นที่นิยมกันในหมู่นักดำน้ำ ห่างจากฝั่ง 60 หลา และมีความลึกประมาณ 60 ฟิต (18 เมตร) แต่ในเวลาที่มีกระแสน้ำ ก็อาจจะมีน้ำแรงและพัดนักดำน้ำเข้าไปหากำแพงใต้น้ำได้โดยง่าย

จิลล์กับบัดดี้ของเธอ แองแจลล่า ลงน้ำไปขณะน้ำตายหลังจากขึ้นสูงสุดแล้ว แองเจลล่าสังเกตเห็นว่าจิลล์มีอาการเหนื่อยขณะที่ว่ายน้ำไปยังทุ่นที่จุดหมายดำน้ำ จิลล์บอกเธอว่าไม่มีปัญหา แต่ต้องขอเวลาในการพักให้หายเหนื่อยสักหน่อยหนึ่งก่อนที่จะเริ่มดำน้ำ เมื่อดำไปได้สักยี่สิบนาที แองเจลล่าพบว่ากระแสน้ำเริ่มไหลแรงขึ้น เธอหันไปถามจิลล์ว่าไหวไหม เนื่องจากเธอสังเกตอาการของจิลล์ก่อนลงดำว่าอาจจะไม่ฟิตนัก จิลล์ตอบว่ายังไหว และทั้งคู่ก็ดำน้ำต่อไปอีกสิบนาที

สามสิบนาทีหลังจากดำน้ำกัน แองเจลล่ารู้สึกว่ากระแสน้ำจะรุนแรงเกินไป เธอให้สัญญาณกับจิลล์ให้ขึ้นกัน เมื่อขึ้นมาผ่านความลึก 40 ฟิต (12 เมตร) แองเจลล่าพบว่าจิลล์ขึ้นด้วยความเร็วสูงมาก และควบคุมไม่ได้ในเวลาต่อมา นักดำน้ำทั้งสองขึ้นมาพบว่ามีคลื่นโต และกระแสน้ำกำลังผลักดันให้ทั้งคู่ไหลเข้าไปสู่กองหินกำแพงใต้น้ำ ในเวลานั้น เนื่องจากควบคุมการจมลอยไม่ได้ และการขึ้นอย่างเร็วทำให้จิลล์กำลังจะ Panic พยายามว่ายน้ำอย่างรวดเร็วเพื่อจะกลับไปให้ถึงฝั่งให้ได้ แต่เนื่องจากการว่ายน้ำที่ไม่ถูกต้อง ทำให้เธอเหนื่อยเป็นอย่างมากและ Panic ในที่สุด ก่อนที่แองเจลล่าจะทำอะไรได้ จิลล์ก็ได้ถอดหน้ากากออกมาและกลืนน้ำเข้าไปในตัวแล้ว

แองเจลล่ารับรู้ได้ทันทีว่ามีเหตุการณ์ฉุกเฉินเกิดขึ้น และส่งสัญญาณขอความช่วยเหลือออกไป นักดำน้ำ Rescue Diver สองคนคว้าอุปกรณ์ดำน้ำพื้นฐานว่ายออกมาช่วยเหลือทันที ในขณะที่แองเจลล่าพยายามให้จิลล์สงบสติอารมณ์แต่ไม่เป็นผล สิ่งที่แองเจลล่าทำได้ก็คือปลดเข็มขัดตะกั่วของจิลล์ออกเพื่อเพิ่มการลอยตัวให้กับจิลล์เท่านั้นเอง ในช่วงเวลานั้น จิลล์ก็หยุดหายใจไป นักกู้ภัยทั้งสามนำจิลล์ขึ้นจากน้ำและทำการผายปอดด้วยวิธีการ Mouth to Mouth ตั้งแต่ขณะที่อยู่ในน้ำ เมื่อมาถึงชายหาด จิลล์ก็เริ่มไอและสามารถหายใจได้ด้วยตนเอง

เมื่อนักดำน้ำทั้งหมดมาถึงชายหาดแล้ว ก็มีรถพยาบาลมารอรับอยู่ เนื่องจากมีคนในกลุ่มได้เรียกรถพยาบาลไว้ ตั้งแต่รับรู้ว่าเกิดเหตุแล้ว จิลล์ได้ถูกพาเข้าโรงพยาบาล และพบว่ามีอาการปอดบวม (Aspiration Pneumonia: ใช่ปอดบวมหรือเปล่า เพื่อนๆ ที่เป็นแพทย์ช่วยด้วยครับ) อันเนื่องจากการหายใจเอาน้ำเข้าไป เธอต้องนอนอยู่ที่โรงพยาบาล แต่ก็ยังโชคดีที่ยังสามารถหายจากอาการป่วยได้ภายในเวลาไม่นาน

เหตุการณ์นี้เกิดขึ้นเพราะจิลล์ถือว่าตนเองเคยสอนดำน้ำมาเป็นเวลาห้าปี ทำให้คิดว่าความสามารถของตัวเองยังเหมือนเดิม เหมาเอาว่าประสบการณ์ที่ผ่านมาทำให้เธอไม่จำเป็นต้องมาทบทวนทักษะการดำน้ำและฝึกฝนสมรรถภาพทางกายก็ได้ เธอน่าจะรู้ดีกว่านี้

ยังโชคดีที่เธอฝึกนักเรียนของเธอมาเป็นอย่างดี ทำให้พวกเขาสามารถช่วยเหลือและจัดการกับเหตุการณ์ฉุกเฉิน ที่ผู้สอนสร้างให้ เพียงแต่เป็นเหตุการณ์ที่จริงจังเท่านั้นเอง หลังจากนั้น จิลล์ก็ได้ไปฝึกออกกำลังกายรวมทั้งทบทวนทักษะการดำน้ำเสียใหม่ และกลับมาแบ่งปันความรักที่มีต่อทะเลของเธอกับนักเรียนดำน้ำของเธอต่อไป

บทเรียนนี้ให้อะไรบ้าง

  1. หลังจากไม่ได้ดำน้ำมานานๆ ไม่ว่าจะมีประสบการณ์มาแค่ไหน ควรจะได้รับการทบทวนในสิ่งแวดล้อมที่ควบคุมได้ (เช่นในสระ: ผู้แปล) กับผู้สอนดำน้ำมืออาชีพ
  2. ประสบการณ์และความรู้ไม่สามารถทดแทนสมรรถภาพทางกายได้
  3. นักดำน้ำทุกคน ไม่จำกัดประสบการณ์ ก็สามารถพบว่าตัวเองตกอยู่ในเหตุการณ์ฉุกเฉินได้
  4. ถึงแม้จะดำน้ำกับผู้ที่มีประสบการณ์มากกว่า แต่ก็ต้องเตรียมพร้อมสำหรับการรับมือกับเหตุการณ์ฉุกเฉิน ที่ไม่ได้คาดหมายไว้ด้วย
  5. อุปกรณ์ให้สัญญาณมีบทบาทมากในการช่วยชีวิต ควรเป็นอุปกรณ์พื้นฐานที่ต้องมีสำหรับนักดำน้ำทุกคน
  6. นักดำน้ำทุกคนควรได้รับการฝึกทักษะพื้นฐานในการกู้ภัย เพื่อให้สามารถรับมือกับเหตุการณ์ฉุกเฉินได้ หากเกิดขึ้นมา
แปลและเรียบเรียงโดย ดร. พิชิต เมืองนาโพธิ์
ปรับปรุงล่าสุด 11 ส.ค. 2550